ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร : "ข้าราชการพลเรือนดีเด่น" ที่กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมบิลลี่

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งในคนที่พบบิลลี่ก่อนเขาหายตัวไปเมื่อ 17 เม.ย. 2557

อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวก 4 คน "ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" กรณีบิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่หายตัวไป 8 ปี ทำให้คดีคนหายกลายเป็นคดีฆาตกรรมบิลลี่ในที่สุด

สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งหนังสือลงวันที่ 10 ส.ค. 2565 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ลงนามโดยนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ซึ่งปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ยืนยันว่า อัยการสูงสุดได้ลงนามในความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อหา "ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" คือ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดยมีข้อหาดังนี้

1. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนกระทำไว้

2. ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจโดยให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ

3. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย

4. ร่วมกันทุจริตหรืออำพรางคดี กระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะมำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

ข้าราชการดีเด่นที่ถูกปลดออก

ชื่อของนายชัยวัฒน์ ปรากฎเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อปี 2564 หลังคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีมติเมื่อ 25 มี.ค. 2564 ให้ปลดนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งประจาน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวเมื่อ 26 มี.ค. 2564 ว่าการให้ออกจากราชการ มี 2 แนวทาง คือ ให้ปลดออก และไล่ออก ซึ่งการไล่ออก ข้าราชการคนนั้นจะถูกตัดสิทธิ์จากราชการทั้งหมด แต่การปลดออก ยังได้สิทธิ์บางส่วน เช่น เงินบำเหน็จ ทว่าในอดีตนายชัยวัฒน์ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีในการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้มาก อ.ก.พ. จึงมีมติปลดนายชัยวัฒน์ออก โดยหลังจากนี้จะทำหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

"โทษมี 2 สถาน ไล่ออกและปลดออก เราเห็นความดีความชอบเขา ส่วนเรื่องกฎหมายสามารถอุทธรณ์ได้ ย้ำเป็นกำลังใจให้ กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างในการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องยึดระเบียบและกฎหมาย" นายจตุพร กล่าวกับไทยพีบีเอสออนไลน์

สำนักงานอัยการสูงสุด

ที่มาของภาพ, สำนักงานอัยการสูงสุด

คำบรรยายภาพ, อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร (1)

บีบีซีไทย ย้อนเส้นทางชีวิตของชายวัย 57 ปี ที่ ได้รับการยกย่องว่าเป็น "วีรบุรุษแก่งกระจาน" และ ถูกปลดออกก็เพราะแก่งกระจาน

คนเพชรบุรี

ชัยวัฒน์ เกิดเมื่อต้นปี 2507 เป็นคน อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จบปริญญาตรีและโท ด้านการบริหารทรัพยากรป่าไม้ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อ 23 เม.ย. 2557 ว่า ชัยวัฒน์ มีบุคลิก "นุ่มนวล ใจนักเลง รักพวกพ้อง ทั้งยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับตระกูลเก่าแก่อย่าง 'อังกินันทน์' ตระกูลดังเมืองเพชรบุรี"

เขาเติบโตในอาชีพราชการอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสรับผิดชอบโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่เขานางพันธุรัต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เคยเป็นหัวหน้าวนอุทยานชะอำ ก่อนจะมารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่าง ต.ค. 2551 ถึง 2557 ดูแลอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ก.ค. 2554 ชัยวัฒน์โด่งดังไปทั่วประเทศ ด้วยการบุกป่าฝ่าดงเข้าไปช่วยกู้เฮลิคอปเตอร์และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนถูกขนานนามว่า "วีรบุรุษแก่งกระจาน" หลังเตุการณ์เขาได้รับมอบประกาศนียบัตรแก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2554 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ที่มาของภาพ, BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ชัยวัฒน์บอกว่าเขามีคดีเยอะ ทั้งที่เป็นโจทก์และเป็นจำเลย ซึ่งเป็นเพราะเขาไม่กลัวใคร

ที่มาของเหตุปลดออก

ข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า ระหว่าง 5-9 พ.ค. 2554 ชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ได้เข้ารื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่น ๆ ของนายโคอิหรือคออี้ มีมิ และของชาวบ้านอีกหลายราย ซึ่งเป็นชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินเสียหายราว 100 หลัง

คออี้ มีมิ ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อชัยวัฒน์ พร้อมพวก ต่อพนักงานสอบสวนสภ.แก่งกระจาน และสำนวนถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

ต่อมาคออี้ และพวก ได้ฟ้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ศาลวินิจฉัยได้ความแล้วว่า ชัยวัฒน์ กับพวก เจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำความผิดในการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวก ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีทั้งหกคน

การกระทำดังกล่าวของชัยวัฒน์ฯ กับพวกในทางกฎหมายอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาต่อไปนี้ ได้แก่ มาตรา 157 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด (อายุความ 15 ปี), มาตรา 217 ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น (อายุความ 10 ปี), มาตรา 218(1) ความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย เช่น บ้านเรือน (อายุความ 20 ปี), มาตรา 218(2) ความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า เช่น ยุ้งฉาง (อายุความ 20 ปี) และมาตรา 358 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ คือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น (อายุความ 10 ปี)

จนกระทั่ง 25 ก.พ. ศกนี้ ที่ประชุม ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด นายชัยวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 และมีมติให้ออกจากราชการ โดยจะส่งสำนวนให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินคดีอาญา เป็นการชี้มูล 3 เดือนก่อนคดีจะหมดอายุความ และราว 2 ปี 6 เดือน หลังการเสียชีวิตของคออี้ เมื่อ 5 ต.ค. 2561 ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพชรบุรี ด้วยอายุ 107 ปี จากการติดเชื้อทางเดินหายใจและปอดอักเสบ

พอละจี รักจงเจริญ

ที่มาของภาพ, ครอบครัวรักจงเจริญ

คำบรรยายภาพ, บิลลี่ ซึ่งขณะหายตัวไปมีอายุได้ 30 ปี เป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงในการอยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ย้อนรอยคดีบิลลี่

11 พ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ และผู้เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อีกสามคน ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

บุคคลอีก 3 คนที่ถูกออกหมายจับร่วมกับนายชัยวัฒน์ ได้แก่ นายบุญแทน บุษราคำ, นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ ทั้งหมดถูกออกหมายจับโดยมีฐานความผิด 6 ข้อ นอกจากความผิดฐานร่วมกันฆ่าแล้ว ยังมีความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นทำให้ปราศจากเสรีภาพและเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และร่วมกันอำพรางคดี กระทำการแก่ศพ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลในทางคดี

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะที่ปรึกษาทีมพญาเสือมีส่วนร่วมในปฏิบัติการจับกุมคณะของนายเปรมชัย กรรณสูต คดีล่าเสือดำป่าทุ่งใหญ่ฯ

ทั้งหมดยังมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.ได้ไต่สวนพบมูลความผิดแล้ว

นายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตั้งแต่ 17 เม.ย. 2557 โดยนายชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ ยอมรับว่าเขาได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ด้วยข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่ได้ปล่อยตัวไปในวันเดียวกัน

นับตั้งแต่นั้นไม่มีผู้พบตัวบิลลี่ ขณะที่นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ดำเนินเรื่องให้ติดตามการหายตัวไปของบิลลี่

เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ดีเอสไอได้เปิดเผยหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงการหายตัวไปของบิลลี่ คือ กระดูกกะโหลกมนุษย์ในถังขนาด 200 ลิตรที่จมอยู่ใต้น้ำ บริเวณสะพานแขวนเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน การตรวจสอบพบว่ากระดูกที่พบมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ และอนุมานเบื้องต้นว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว

พอละจี รักจงเจริญ

ที่มาของภาพ, ครอบครัวรักจงเจริญ

คำบรรยายภาพ, บิลลี่ ซึ่งขณะหายตัวไปมีอายุได้ 30 ปี เป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงในการอยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อัยการสั่งไม่ฟ้อง

23 ม.ค. 2563 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อส่งคืนสำนวนการสอบสวนจำนวน 17 แฟ้มในคดีที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คือ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ และความผิดฐานอื่นๆ

พิณนภา พฤกษาพรรณ

ที่มาของภาพ, CHARLOTTE PAMMENT/BBC

คำบรรยายภาพ, มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เชื่อมั่นว่าดีเอสไอจะนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของสามีของเธอมาลงโทษได้

พนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดจากการที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมหรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม, ร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยมีอาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดติดตัวไปด้วย เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดีกระทำการใดใดแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป, ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต, ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 147, 148, 289(4)(7), 309, 337, 340 ตรี และ ป.วิอาญา มาตรา 150 ทวิ

รองอธิบดีดีเอสไออธิบายจุดที่พบกระดูกของบิลลี่ในถังน้ำมันใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร สมัยเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ อธิบายจุดที่พบกระดูกของบิลลี่ในถังน้ำมันใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

12 ส.ค. 2563 มติชนออนไลน์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดี ดีเอสไอ ว่า ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ภายหลังที่ได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของพนักงานอัยการแล้ว ดีเอสไอได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และโดยเฉพาะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน กับความเห็นของพนักงานอัยการที่ประกอบการออกคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว เห็นว่ายังไม่สามารถเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว จึงให้ส่งความเห็น พร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไป